Navigator

05 กันยายน 2555

สรุปสัมมนา "ปั้นก๊าซให้เป็นเกม" ในมุมมองของผม Part I


   ขอเกรินก่อนนิดนึงนะครับ หลังจากที่ไปฟังสัมมนา หัวข้อ "ปั้นก๊าซให้เป็นเกม" โดย คุณประเสริฐ ประเสริฐวิทยาการ game designer จากบริษัท square enix ประเทศญี่ปุ่น ใน วันอังคารที่ 4 ก.ย. 55 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้อง M01 ตึก มหามกุฎ

ผมได้ไอเดียและได้ความรู้เยอะครับ และก็อยากจะมาบอกกล่าวกับคนที่สนใจแต่ไม่มีโอกาสได้ไป แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าผมไม่ใช่เด็กที่จดและได้อะไรมาตรงเป๊ะๆ แถมจดมาน้อยด้วย ผมเป็นพวกเด็กหลังห้องหนะครับและฟุ้งไปเรื่อย บางทีผมอาจจะเสริมไปเองในมุมมองของผมบ้าง ถ้าใครอยากได้ Original ก็ไม่ต้องอ่านบทความนี้ก็ได้ครับ เอาหละ มาเริ่มกันเถอะ

ในช่วงแรกของการสัมมนาจะ วิทยากรพูดเกี่ยวกับว่าเกมในตอนนี้ไปถึงไหนกันแล้ว สำหรับเกมเมอร์หรือคนเล่นเกมบ่อยๆคงจะรู้กันอยู่แล้วว่ามันเป็นยังไง แต่ก็กล่าวไว้สำหรับคนที่ยังไม่รู้ครับ และก็ได้เปิด VDO ของเกม Uncharted 3 : Drake's Deception  ที่เป็นฉากไล่ล่า ตาม Youtube ข้างล่างเลยครับ

ในระหว่างที่ VDO เล่นไปเขาก็พูดถึง เสียงที่มีการตอบรับกับเหตุการณ์ เช่น ในระหว่างที่คนเล่นวิ่งไล่ ศัตรู จะมีเพลง BGM (Background Music) ที่ฟังแล้วรู้สึกตื่นเต้นไปกับเกม คนเล่นจะรู้สึกอิน และยิ่งพอใกล้จุดที่เกือบจะจับศัตรูได้ เพลงจะเร่งให้เร็วขึ้น และพอหลุดออกจากช่วงไล่ล่า มาอยู่ที่ตลาด ก็จะดรอปเสียงเพลง BGM ที่ใช้ตอนไล่ล่าลงจน BGM นั้นหายไป และ มีเสียงเอะอะของคนขึ้นมาแทน เหมือนเราอยู่ตรงนั้นจริงๆ และพอกลับมาเข้าสู่ฉากไล่ล่าต่อเพลง BGM ก่อนหน้าก็จะดังขึ้นอีกเป็นต้น

การสร้างเกม เป็นมากกว่า การสร้างหนัง เพราะเราต้องเล่าเรื่องให้คนเล่นเชื่่อและอินตาม มีแสง มีการแตก หรือกระแทกเมื่อวัตถุชนกันที่สมจริง จะต้องมีคนๆหนึ่งมาทำโมเดลรถ จะต้องมีคนๆหนึ่งมาสร้างหรือดูแลเรื่องของแสง จะต้องมีคนหนึ่งๆสร้างหรือดูแลเรื่องฟิสิกส์ที่สมจริง จะต้องมีคนๆหนึ่งมาดูลายเสื้อผ้าที่เข้ากับ สิ่งแวดล้อมในเวลาที่ผู้เล่นเดินผ่านมา จะเห็นว่ามีอะไรเยอะแยะมากมายในเกม เพราะในความเป็นจริงแล้ว เกมก็เป็น  Composite Art กล่าวคือ มีศาสตร์และศิลป์รวมอยู่ด้วยกัน มันไม่เหมือนกับสร้างหนังหรือภาพยนตร์ เพราะมันเป็นยิ่งกว่านั้น ที่เห็นได้ชัดคือ ภาพยนตร์ ไม่จำเป็นต้องมีคนมาคอยดูแลเรื่องฟิสิกส์ การชนการกระแทก ถ้าชนพลาด ก็คงต้องเห็นคนหรือของทะลุกำแพงไป ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นในโลกจริงๆแน่นอน แต่มันจะเกิดกับโลกที่เราจำลองขึ้นมาอยู่ประจำ

เมื่อวิทยากร พูดเกี่ยวกับเกมเสร็จแล้วเขาก็มาบอกเกี่ยวกับ Developer (คนทำ) และ Publisher (คนขาย) เพราะ เกมใหญ่ๆ บริษัทเกมอย่าง Square Enix , EA , Nintendo ที่ทำออกมาขายกันก็ไม่ได้มีทุกเกมที่มาจากบริษัทเหล่านี้ จะมีบริษัทที่เป็นทีม Developer แยกกัน



ซึ่งบริษัทใหญ่ๆแน่นอนว่าเขาจะมีทีมทำของเขาอยู่แล้ว และก็จะรับมาขายด้วย ซึ่งบริษัททีมทำขนาดเล็กก็จะเข้าไปคุยกับบริษัทใหญ่ หรืออาจจะมีบริษัทใหญ่ไปคุยกับ บริษัทขนาดเล็กว่าสนใจที่จะนำเกมนี้ไปอยู่ใน Brand ของเขา และมีข้อเสนอให้บริษัทเล็กมาร่วมทำ อะไรแบบนี้เป็นต้น แต่ถึงกระนั้น นี่ก็เป็นรูปแบบของเกมสมัยก่อนตอนนี้เรามี Store ตามเจ้าต่างๆเช่น Value Stream , XBox Live Market , Apple Store หรือ Google Play market เป็นต้น เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้ ทีมทำไม่ต้องคุยกับ บริษัททีมขายก็ได้ทำให้มีโอกาสมากขึ้น ในอนาคตคนทำกับคนขายจะเป็นคนเดียวกันก็ได้แต่ในเวลานี้เกมที่ทำลงเครื่อง Console ยังต้องคุยกับบริษัทที่เป็น Publisher อยู่ครับ

ในการคุยกันระหว่าง 2 บริษัทจะต้องมีหัวหน้าทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายที่ทำเราจะเรียกเขาว่า Director และคนจากฝ่ายขายเราจะเรียกเขาว่า Producer ฉะนั้นเวลาคุยกันคนที่จะทะเลาะกันจะอยู่ระหว่าง 2 คนนี้ Director จะพยายามทำเกมด้วยคำคิดที่ว่า เกมเป็นงาน เป็นศิลปะ ต้องทำให้ดีให้สวย ส่วน Producer จะมองว่า เกมเป็นสิ่งที่ทำเงินและขายได้ จะยกตัวอย่างปัญหาระหว่าง 2 คนนี้ ตามภาพด้านล่าง
ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายแล้วส่วนใหญ่ Producer เป็นฝ่ายชนะครับ ผมว่าตรงนี้ก็เป็นเรื่องปกติ ใครมีเงินเยอะก็ได้เปรียบครับ

หลังจากที่วิทยากรได้พูดถึงคนระดับสูงๆ ไปแล้วก็พูดในส่วนของทีมที่ทำตัวเกมโดยหน้าที่ของแต่ละคนในทีมว่ามีใครทำอะไรบ้างถึงจะออกมาเป็นเกม โดยวิทยากร แบ่งกลุ่มหลักๆออกเป็น 4 กลุ่มคือ
ดูรูปแล้วอย่าเพิ่ง งง กัน มันเป็นการเปรียบเทียบจากความคิดของวิทยากร ส่วนทำไมถึงเปรียบกันแบบนี้จะอธิบายในส่วนต่อไป และในแต่ละหน้าที่หลักนั้นแบ่งแยกย่อยงานออกไปอีก เป็นตามภาพด้านล่างนี้

มาถึงตรงนี้จะเห็นว่า บางอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน เช่น  ทำไม Designer ไม่ได้อยู่ในส่วนของ Artist หรือ ทำไม Sound Programmer ถึงแยกออกมาจากกลุ่ม Programmer อะไรแบบนี้เป็นต้น เดี๋ยวจะพยายามอธิบายเป็นส่วนๆกัน ในตอนถัดไปนะครับ สำหรับบทความนี้ขอเขียนไว้เท่านี้ก่อนครับ

2 ความคิดเห็น:

kpansavuth กล่าวว่า...

รอตอน 2

Unknown กล่าวว่า...

รอติดตามครับ